วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้

เอกศักดิ์ บุตรลับ(2537 : 210) ได้กล่าวองค์ประกอบการเรียนรู้ไว้ว่า 
             องค์ประกอบที่เป็นตัวป้อนในระบบการเรียนการสอน ได้แก่ ครู นักเรียน บุคลากรในโรงเรียนอื่นๆ หลักสูตร และสิ่งแวดล้อมทางการเรียน
         1. ครู เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
         2. เรียน เป็นองค์ประกอบทีมีความสำคัญและจะขาดมิได้ เพราะถ้าหากไม่มีผู้เรียนแล้ว การสอนก็จะไม่เกิดขึ้น
         3. หลักสูตร เนื่องจากหลักสูตรเป็นสื่อกลางที่จะนำนักเรียนไปสู่จุดหมายปลายทางทีสังคมได้คาดหวังไว้
        4. สิ่งแวดล้อมทางการเรียน ได้แก่ การจัดห้องเรียน การจัดเวลาเรียน การเลือกแหล่งวิทยาการ และการบริการสนับสนุนการเรียนการสอน

ประไพ ฉลาดคิด (2548: 4-5) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการเรียนรู้ไว้ดังนี้ 

              ลองจินตนาการเป็นภาพต่อไปนี้ ในการสอนแต่ละครั้งเมื่อผู้สอนเข้ามาในชั้นเรียนน่าจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าในห้องเรียนนั้นคงไม่ใช่ห้องเรียนที่ว่างเปล่า แต่ควรมีองค์ประกอบต่อไปนี้ในชั้นเรียน
          1. ผู้สอน ผู้สอนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งต่อการสอน เพราะต้องเป็นผู้รู้หลักสูตรและนำเนื้อหาสาระมาดำเนินการสอน มีการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ตลอดเวลาของการเรียนการสอน โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในบทเรียน มีทักษะกระบวนการ และมีเจตคติที่ดีตามเจตนารมณ์ของบทเรียนและหลักสูตร นอกจากนั้นครูยังต้องมีความสามารถใช้สื่อประกอบการสอน และสอนให้ตรงตามจุดประสงค์ที่ได้วางไว้ทำให้การสอนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
          2. ผู้เรียน ผู้เรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสอน เพราะการสอนจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีผู้เรียนเป็นผู้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ต่างๆ ที่ผู้สอนจัดให้ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่เป็นไปตามจุดประสงค์ของการสอนที่ตั้งไว้
          3. กิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นองค์ประกอบอีกประการหนึ่ง ที่มีความสำคัญมากต่อการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนนั้นออกแบบโดยผู้สอนและผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ มีการวัดผลและประเมิลผลตามที่ผู้สอนได้วางแผนไว้

ไพศาล หวังพานิช (2526 : 6) 
ได้กล่าวองค์ประกอบการเรียนรู้ไว้ว่า 
              การสอนเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของการจัดการศึกษา เพราะเป็นการนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผลตามที่มุ่งหวังไว้ คุณภาพของการศึกษาจะดีหรือไม่เพียงใดนั้นย่อมเป็นผลโดยตรงจากการสอนเป็นประการสำคัญ ดังนั้นในการสอนแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาวิชาใดก็ตาม ควรจะมีองค์ประกอบพื้นฐานของกระบวนการเรียนการสอนดังนี้
           1. จุดมุ่งหมายการสอน ก่อนจะเริ่มต้นสอนครูผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตร แล้วกำหนดจุดมุ่งหมายของการสอนให้ชัดเจนว่า หลังจากสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้ว ครูผู้สอนประสงค์จะให้นักเรียนเรียนรู้อะไรบ้าง และมีความสามารถทำอะไรได้บ้าง จุดมุ่งหมายในการสอนควรกำหนดให้อยู่ในรูปของจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม(Behavioral Objectives) ซึ่งสามารถสังเกตได้และวัดได้
          2. พฤติกรรมพื้นฐานของผู้เรียน ก่อนที่ครูจะทำการสอนในเรื่องใด หากครูได้ทราบสภาพพื้นฐานของผู้เรียนก่อน ก็จะทำให้สามารถจัดกิจกรรมในการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่
          3. การเรียนการสอน เป็นขั้นตอนที่ครูจะทำการสอนในเนื้อหาวิชาจริง ๆ ครูผู้สอนอาจเลือกใช้เทคนิควิธีสอนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับวัย และสภาพพื้นฐานของผู้เรียน โดยคำนึงถึงลักษณะของเนื้อหาวิชาด้วยว่า จะแบ่งเนื้อหาวิชาเป็นหน่วยย่อยได้อย่างไร หน่วยย่อยใดควรสอนก่อนหรือหลัง และเนื้อหาในแต่ละหน่วยย่อยนั้นจะใช้อุปกรณ์ชนิดใดเข้าช่วย
          4. การวัดและประเมินผล เป็นการตรวจสอบผลการเรียนการสอนเพื่อจะได้ทราบว่าภายหลังจากผ่านการเรียนการสอนแล้ว ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ดีขึ้นเพียงไร อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจหรือไม่โดยเทียบกับจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนที่ครูกำหนดไว้ก่อนการเรียนการสอน

สรุป
            
               จากที่กล่าวมาทุั้งหมด สรุปได้ว่าการสอนเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของการจัดการศึกษา เพราะเป็นการนำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผลตามที่มุ่งหวังไว้ องค์ประกอบที่เป็นตัวป้อนในระบบการเรียนการสอน ได้แก่ 
            1. ครูผู้สอน
            2. นักเรียน
            3. กิจกรรมการเรียนการสอน
            4. การวัดผลและประเมิณผล

ที่มา
เอกศักดิ์ บุตรลับ. (2537). ครูและการสอน. เพชรบุรี: สถาบันราชภัฎเพชรบุรี.
ประไพ ฉลาดคิด. (2548). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: เกษมศรี ซี.พี.
ไพศาล หวังพานิช.(2526). การวัดผลการศึกษา. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพไทยวัฒนาพานิช.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น