วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

สุรางค์ โค้วตระกูล (2541: 416-418) ได้กล่าวถึงการประเมินผลไว้ว่า
               การประเมินผล (Evaluation)เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นสำหรับโปรแกรมทุกอย่างของโรงเรียนตั้งแต่หลักสูตรการเรียนการสอน โปรแกรมอาหารกลางวันของนักเรียนควรจะได้รับการประเมินว่าได้ผลคุ้มอย่างไร การประเมินผลอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
               1. การประเมินผลบั้นปลายตอนจบหลักสูตร (Summative Evaluation)
การประเมินผลประเภทนี้มักจะประเมินเมื่อผู้เรียนได้เรียนจบหลักสูตรของวิชาหนึ่งๆแล้วในโรงเรียนอาจจะเป็นตอนกลางปีหรือปลายปีก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้การประเมินผลแบบ Summative เมื่อมีการอบรมพิเศษ เพื่อแสดงว่าผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ตามหลักสูตร ถ้าหากผู้เรียนผ่านการสอบการประเมินผลแบบ Summative อาจจะทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาถ้าหากที่จะประเมินผลของการศึกษาทุกแง่ทุกมุม เช่น ทัศนคติของนักเรียน หนังสือ ตำราที่ทางโรงเรียนใช้ เวลาที่นักเรียนใช้ในการเรียนการสอนแต่ละวิชาความรู้ที่นักเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้หรือไม่
               2. การประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation)
Scriven (1967) เป็นผู้ริเริ่มแนะนำให้ผู้ที่มีส่วนสร้างหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนใช้วิธีประเมิลผล เพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Formative Evaluation) ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อจะได้ทราบว่าหลักสูตรใช้ได้ผลดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยประเมินหลักสูตรเป็นตอนๆ ถ้าพบข้อบกพร่องก็จะได้ดัดแปลงแก้ไขทันท่วงที ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างหลักสูตร Scriven กล่าวว่าวิธีการสร้างหลักสูตรคณะกรรมการการสร้าง หลักสูตรมักจะทำงานสร้างหลักสูตรตั้งแต่ต้นจนจบแล้วนำออกไปใช้ในโรงเรียนโดยไม่ได้ทำการทดลองเป็นขั้นๆ ถ้าหากผู้ใช้เสนอแนะให้แก้ไขผู้สร้างหลักสูตรก็มักจะพยายามที่จะต่อต้านไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่าได้ทุ่มเทกำลังงานไปมากแล้ว ดังนั้นถ้าหากผู้สร้างหลักสูตรจะใช้การประเมินผลแบบ Formative ประเมินผลเป็นตอนๆ ผู้สร้างอาจจะใช้ข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรให้ดีขึ้น
                Bloom, et. Al., (1971) ได้เสนอแนะให้ครูใช้ Formative Evaluation ในโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนให้เรียนรู้ แลได้กล่าวถึงประโยชน์ของFormative Evaluation ไว้ดังต่อไปนี้
               1. ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนทราบว่าตนเองสามารถที่จะเรียนรู้จนรอบรู้ (Master) หน่วยการเรียนแต่ละหน่วยหรือไม่ โดยใช้วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ก็จะเป็นแรงเสริมให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ต่อไป และในกรณีที่นักเรียนทำไม่ได้ครูก็จะได้ช่วยนักเรียนได้ทันท่วงที ทำให้นักเรียนซาบซึ้งในความเอาใจใส่ของครู ทำให้นักเรียนเอาใส่ในบทเรียนมากขึ้น และพยายามเรียนรู้สิ่งที่ทำไม่ได้จนรอบรู้
              2. ช่วยครูในการสอนนักเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน ครูอาจจะแบ่งหน่วยของการเรียนแต่ละหน่วยออกเป็นส่วนย่อย ตามลำดับความยากง่าย เป็นต้นว่าหน่วยเรียนเกี่ยวกับการเรียนเลขเศษส่วน ครูอาจจะแบ่งหน่วยเรียนออกเป็น 10 ขั้น ตามลำดับความยากง่าย ดูว่านักเรียนแต่ละคนอยู่ระดับใด ตั้งต้นจากการบวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็ม จนถึงการใช้เศษส่วน ความหมายของเศษส่วน การบวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนเป็นต้น ถ้านักเรียน บวก ลบ คูณ หาร เลขจำนวนเต็มไม่ได้ก็ยากที่จะเรียนเลข บวก ลบ คูณ หาร เศษส่วนได้ การวิจัยเกี่ยวกับนักเรียนที่ไม่มีความถนัดทางเลขพบว่า ถ้าครูพยายามช่วยโดยการแบ่งหน่วยเรียนเป็นส่วนย่อยและใช้ Formative Evaluation จะสามารถช่วยนักเรียนในการเรียนเลขได้ เพราะเมื่อนักเรียนสามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยเรียนขั้นง่ายแล้วก็จะสามารถที่จะทำขั้นต่อไปโดยไม่ยากนัก
              3. ช่วยครูวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนของนักเรียนอยู่ที่ไหน หรือปัญหาของนักเรียนที่ทำไม่ได้คืออะไร และบอกให้นักเรียนแต่ละคนทราบปัญหาในการเรียนแต่ละหน่วย และวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมนักเรียนถึงมีปัญหาทำไม่ได้ บางครั้งปัญหาก็ง่ายที่จะปรับปรุงแก้ไข เช่น การเลินเล่อ อ่านโจทย์ หรือคำถามไม่ละเอียด หรือตีความหมายผิด หรือบางครั้งอาจจะเป็นเพราะความรู้พื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียนไม่มี ไม่ว่าปัญหาของนักเรียนจะเป็นประเภทใด ถ้าทราบก็จะได้แก้ไขทันท่วงที
               4. ครูอาจจะใช้ Formative Evaluation ช่วยปรับปรุงการสอนของครู เป็นต้นว่า ถ้าหากนักเรียนทั้งห้องทำข้อหนึ่งข้อใดผิดก็แสดงว่าการสอนหรือการอธิบายของครูอาจจะไม่แจ่มแจ้ง หรือทำให้นักเรียนเข้าใจผิด ถ้าหากนักเรียนมากกว่าครึ่งห้องไม่สามารถทำได้ ก็แสดงว่าครูควรจะหาวิธีสอนหรือวิธีอธิบายหน่วยเรียนใหม่ หรือใช้ตัวอย่างหรืออุปกรณ์การสอนที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้อย่างรอบรู้คือ สามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
              5. Formative Evaluation ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนตั้งความคาดหวังสำหรับความสัมฤทธิผลของการสอบไล่ปลายปีได้ ถ้านักเรียนทราบอยู่ตลอดเวลาว่าตนทำได้ จากผลของ Formative Evaluation ก็จะตั้งความคาดหวังหรือระดับความทะเยอทะยานในการสอบไล่ไว้สูง และคิดว่าตนคงจะทำได้เป็นการช่วยให้นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะตั้งใจเรียนให้ดี สำหรับนักเรียนที่ทำไม่ได้ก็มีโอกาสแก้ตัว พยายามแก้ไขจุดอ่อนของตน สามารถเรียนรู้จนรอบรู้ หน่วยเรียนแต่ละหน่วยได้ทำให้มีความมั่นใจในเวลาสอบไล่
สรุปแล้วในการเรียนการสอน ถ้าหากครูจะใช้ Formative Evaluation ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถเรียนรู้จนรอบรู้ ทุกหน่วยเรียนก็จะเป็นการช่วยนักเรียนในการสอบไล่ตอนจบหลักสูตรทำให้นักเรียนมีความมั่นใจในตนเอง และไม่มีความกระวนกระวายใจมากในขณะที่สอบ ข้อสำคัญที่สุดก็คือครูไม่ควรจะให้คะแนนเวลาที่ใช้ Formative Evaluation และควรจะเน้นถึงประโยชน์ของ Formative Evaluation ให้นักเรียนทราบ


ภูมิชนะ เกิดพงษ์ (https://www.gotoknow.org/posts/181202.) ได้รวบรวมความหมายของวัดผลและการประเมินผลไว้ว่า 
                    การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผลการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
              1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
              2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
              3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
             4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
              5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
              6. เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

สรุป
                 จากที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปได้ว่า การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
                  การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะ

ที่มา
สุรางค์ โค้วตระกุล. (2541). จิตวิทยาการศึกษา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ภูมิชนะ เกิดพงษ์. [online]. (https://www.gotoknow.org/posts/181202). การวัดผลกับการประเมินผล. เข้าถึงเมื่อ 16 กันยายน 2558.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น